ผลการเลือกตั้งสหรัฐที่จะกระทบต่อตลาดการเงินมีอะไรบ้าง?
Kelvin Blacklock หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาพอร์ตการลงทุน Eastspring Singapore: ข้อแรกผลการเลือกตั้งอาจใช้เวลานานหลายสัปดาห์และการนับคะแนนรอบสุดท้ายอาจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญภายหลังจากวันเลือกตั้ง
นั่นเพราะผลจากกรณีที่ผู้แสดงเจตนามาใช้สิทธิ์แต่กลับไม่ได้เดินทางมาลงคะแนน และกรณีที่ผู้ลงคะแนนทางไปรษณีย์แต่กลับเข้ามาลงคะแนนด้วยตนเอง
ข้อที่สอง การนับคะแนนใหม่และการโต้แย้งทางกฎหมายอาจทำให้ไม่สามารถยอมรับผลคะแนนได้ตามกฎหมาย ซึ่งนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพและความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น
ข้อที่สาม มีความเป็นไปได้ว่าการเลือกตั้งรอบใหม่จะเป็นแบบ contested election ในกรณีที่ไม่สามารถตัดสินผลคะแนนได้ด้วย popular vote หรือ Electoral College ทำให้จำเป็นต้องมีการแทรกแซงจากสภาคองเกรสหรือศาลสูงสุดเพื่อตัดสิน ด้วยเหตุผลเหล่านี้เราจึงคาดว่าจะเห็นความผันผวนของตลาดที่เพิ่มขึ้นในช่วงอีกหลายสัปดาห์ข้างหน้า
แม้ว่าผลการเลือกตั้งจะไม่ใช่สิ่งที่น่าสนใจมากนัก แต่ชัยชนะจากการได้รับเลือกตั้งกลับมาใหม่ของประธานาธิบดีทรัมป์จะก่อให้เกิดความเสี่ยงทั่วโลก การดำรงตำแหน่งสมัยที่สองของทรัมป์อาจส่งผลให้เกิดสงครามการค้ากับประเทศที่เกินดุลการค้าอื่นๆ อีกมากขึ้น ดังนั้น การสร้างผลงานที่โดดเด่นของตลาดหุ้นสหรัฐอาจยังดำเนินต่อไปเมื่อเทียบกับตลาดแห่งอื่นๆ ในทางตรงกันข้าม หากชัยชนะเป็นของ โจ ไบเดน นั่นจะเป็นการส่งสัญญาณถึงความเสี่ยงภายในประเทศที่สูงขึ้น มาตรการเก็บภาษีที่สูงขึ้นนับเป็นความเสี่ยงสำหรับบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ในขณะที่การเพิ่มกฎระเบียบต่อบริษัทพลังงานและกลุ่มเฮลท์แคร์ ก็อาจทำให้หุ้นสหรัฐทำผลงานได้ย่ำแย่กว่าตลาดหุ้นโลก
อย่างไรก็ดี การล็อบบี้ของบริษัทเหล่านี้ในรัฐบาลกรุงวอชิงตันมีความเข้มแข็งมาก ซึ่งในอดีตกลุ่มธุรกิจดังกล่าวก็มักจะใกล้ชิดกับพรรคเดโมแครตมากกว่าพรรครีพับลิกัน สำหรับในส่วนของการลงทุน ESG นั้น อาจได้รับการสนับสนุน เนื่องจาก โจ ไบเดน ได้เรียกร้องให้มีข้อตกลงที่เรียกว่า Green New Deal มูลค่าสองล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจพลังงานทางเลือก
เมื่อพิจารณาในทุกปัจจัย ตลาดมอง “กรณีดีที่สุด” สำหรับหุ้นก็คือการที่ไบเดนได้รับชัยชนะ พร้อมกับการแบ่งฝ่ายในสภาคองเกรส (สภาผู้แทนราษฏรถูกคุมเสียงข้างมากโดยพรรคเดโมแครต และวุฒิสภาที่คุมโดยพรรครีพับลิกัน) ขณะที่ความเสี่ยงจากสงครามการค้าอาจลดความรุนแรงและไม่มีมาตรการภาษีที่ออกมาใหม่ แต่การเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะมากที่สุดจะเกิดขึ้นหากพรรคเดโมแครตประสบความสำเร็จในการคุมเสียงเป็นรัฐบาล เนื่องจากการใช้จ่ายทางการคลังที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวจึงส่งผลให้ผู้ชนะหลักๆ น่าจะได้แก่
a) กลุ่มสินค้าวัตถุดิบอุตสาหกรรม เนื่องจากการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน
b) กลุ่มสินค้าผู้บริโภคที่ไม่จำเป็น (Consumer Discretionary) เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้น และ
c) ตลาดหุ้นเกิดใหม่และค่าเงินของเอเชีย เนื่องจากนโยบายการค้าที่ลดความรุนแรงลง
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบโดยรวมต่อหุ้น ตราสารหนี้ และเงินดอลลาร์สหรัฐ มีความชัดเจนน้อยลง เนื่องจากถูกชดเชยด้วยข้อเสนอการปรับเพิ่มภาษีนิติบุคคลเพื่อนำมาสนับสนุนภาระการใช้จ่ายที่ปรับตัวสูงขึ้น
นอกจากผลการเลือกตั้งแล้ว ตลาดยังได้รับอิทธิพลจากทิศทางของนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และนโยบายกีดกันต่างๆ ซึ่งสำหรับในตอนนี้นโยบายการเงินที่ยังคงผ่อนคลายได้ช่วยหนุนตลาดหุ้น การใช้จ่ายทางการคลังที่สูงขึ้นของทั้งทรัมป์และไบเดน ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานก็สนับสนุนหุ้นด้วยเช่นกัน แต่การที่สหรัฐมุ่งเปลี่ยนไปสู่นโยบายการกีดกันและความจำเป็นเชิงกลยุทธ์ในการใช้ตอบโต้กับจีนนั้น จะยังคงเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นต่อเนื่องและสร้างแรงสั่นสะเทือนให้แก่ตลาดต่อไป
ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมาภายใต้กระแสความเฟื่องฟูของทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ เป็นแนวโน้มเชิงบวกอย่างมากต่อความมั่งคั่งและการเติบโตทั่วโลก ซึ่งสำหรับประเทศกำลังพัฒนานั้นสามารถช่วยบรรเทาภาวะความยากจนของผู้คนหลายล้านคนในขณะที่ผู้บริโภคในประเทศพัฒนาแล้วได้รับประโยชน์จากสินค้าราคาถูก แต่น่าเสียดายที่แนวโน้มเช่นนี้ที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีประกอบกับการย้ายถิ่นฐานที่เพิ่มขึ้นได้ทำให้ผู้ใช้แรงงานในหลายชาติตะวันตกต้องประสบกับภาวะการว่างงาน จนนำมาสู่การพลิกผันของความนิยมทางการเมืองที่โอนเอียงไปทางนโยบายแบบสังคมนิยมมากขึ้นทั่วโลก นอกจากนี้ COVID-19 ยังได้เร่งทำให้เกิดแนวโน้มนี้เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ในขณะที่ช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและจีนแคบลง หลายคนต่างกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า Thucydides Trap ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ถูกระบุไว้ครั้งแรกโดยนักประวัติศาสตร์กรีกโบราณ สถานการณ์นี้หมายถึงอำนาจที่เพิ่มขึ้น (ในกรณีนี้คือจีน) เข้ามาแทนที่ผู้ปกครอง (คือสหรัฐ) และได้มีการตั้งข้อสังเกตว่าในช่วง 500 ปีที่ผ่านมา มีจำนวน 16 ครั้งที่เกิดกลุ่มอำนาจใหม่ขึ้นมาท้าทายผู้ปกครอง และ 12 ครั้งจบลงด้วยสงคราม แม้ว่าความขัดแย้งทางการทหารนั้นไม่น่าเกิดขึ้นได้ แต่อาจส่งผลให้กระแสโลกาภิวัตน์ลดบทบาทลง
คุณมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีนจะมีพัฒนาการอย่างไรในอีก 4 ปีข้างหน้า?
Michelle Qi หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายจัดการลงทุนหุ้น Eastspring Investments ประเทศจีน : จากสภาวะการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐและจีนที่ทวีความรุนแรง เราเชื่อว่าความตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศจะดำเนินต่อไปไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม แนวทางของไบเดนในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน อาจมีความแปรปรวนที่น้อยกว่า และที่สำคัญกว่านั้นเราไม่ได้คาดหวังว่าจะมีการตัดขาดออกจากกันอย่างสมบูรณ์ระหว่างเศรษฐกิจสองประเทศเนื่องจากความเชื่อมโยงที่ลึกซื้งที่เกิดขึ้นภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
เป็นที่น่าสังเกตว่าการส่งออกของจีนไปยังสหรัฐลดลงเพียง 3.6% yoy หากดูข้อมูลตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แม้ว่าจะมีการระบาดของ COVID-19 และอัตราภาษีที่สูงขึ้นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงทางการค้าเฟสหนึ่ง ข้อมูลเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม พบว่าตัวเลขการส่งออกของจีนไปยังสหรัฐอเมริกาขยายตัวในระดับที่แข็งแกร่งที่ 12% และ 20% ตามลำดับ ซึ่งไม่เพียงแต่ยอดส่งออกไปยังสหรัฐเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงสัดส่วนการส่งออกไปสู่ตลาดโลกของจีนก็ได้พุ่งสูงขึ้นในเดือนเมษายน เนื่องจากการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และอิเล็กทรอนิกส์ที่สูงขึ้นอย่างมีนัยยะ ดังแสดงในรูปที่ 1
ในขณะเดียวกัน จีนเป็นหนึ่งในตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นตลาดที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์สำหรับบริษัทข้ามชาติหลายแห่งของสหรัฐ McKinsey Global Institute ระบุว่าประชากรของจีนในกลุ่มที่มีกำลังจับจ่าย (upper aspirant and above) ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีรายได้ครัวเรือนที่ 138,000 หยวนต่อปี (ประมาณ 21,000 ดอลลาร์สหรัฐ) คิดเป็นสัดส่วน 49% ของประชากรทั้งหมดในปี 2018 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 8% ในปี 2010
แม้ว่าการระบาดของ COVID-19 ได้เร่งให้เกิดการทบทวนว่าบริษัทต่างๆ ควรกำหนดแผนสำหรับซัพพลายเชนของตนต่อไปอย่างไร แต่จีนนั้นก็ยังคงถือเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก จีนมีต้นทุนแรงงานที่สามารถแข่งขันได้ นอกเหนือจากระบบนิเวศด้านซัพพลายเชนที่ครอบคลุมรอบด้าน ด้วยเหตุนี้การเคลื่อนย้ายซัพพลายเชนออกจากจีนไปทั้งหมดจึงเป็นการดำเนินการที่มีต้นทุนสูงและใช้เวลานาน บริษัทต่างๆ มีความเป็นไปได้ว่าจะกระจายความเสี่ยงด้วยการมีโรงงานในจีนและอีกแห่งในประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้1 ในขณะเดียวกัน จีนได้เพิ่มขีดความสามารถทางด้านการผลิตและไต่ระดับขึ้นบนห่วงโซ่อุปทาน ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังคงดำเนินต่อไปก็เพียงแต่จะช่วยเร่งแนวโน้มนี้เพิ่มมากขึ้น
ในด้านเทคโนโลยี ดูเหมือนว่าจะมีความพยายามในสองด้านที่ต้องการถ่วงดุลจีนซึ่งมุ่งมั่นปลุกปั้นเศรษฐกิจของตนและความมั่นคงของชาติ จุดสนใจของรัฐบาลสหรัฐในปัจจุบันได้ย้ายจากเรื่องของฮาร์ดแวร์ (เช่นกรณี Huawei) ไปยังเรื่องการไหลของข้อมูล (เช่น TikTok) แม้ว่าการใช้บทลงโทษในบางอย่างของสหรัฐอาจส่งผลกระทบต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีนในระยะเวลาอันใกล้ แต่นั่นก็ทำให้จีนให้ความสำคัญมากขึ้นกับการค้นหาสิ่งทดแทนในประเทศ นวัตกรรมที่เป็นอิสระ และเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ
หากพิจารณาในภาคการเงินที่แบ่งออกเป็นภาคส่วนย่อย พบว่ามาตรการตรวจสอบด้านกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ ซึ่งเพ่งเล็งบริษัทจีนที่จดทะเบียนในสหรัฐ มีแนวโน้มที่จะเร่งโอกาสในการเข้าจดทะเบียนในตลาดฮ่องกง นอกจากนี้ มาตรการปฏิรูปเมื่อเร็วๆ นี้ที่ดำเนินการโดยตลาดหุ้นฮ่องกงและตลาดหุ้นประเภท onshore (STAR & ChiNext) ทำให้ตลาดเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจในการเข้าจดทะเบียนสำหรับหุ้น new economy สัญชาติจีนจำนวนมาก
คุณมองว่าความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐและเอเชียจะดีขึ้นภายใต้การนำของประธานาธิบดี ไบเดน หรือไม่?
John Tsai หัวหน้าฝ่าย Core Equities, Eastspring Singapore: ในปี 2017 ประธานาธิบดีทรัมป์นำสหรัฐถอนตัวออกจาก Transpacific Partnership (TPP) ที่ให้สัตยาบันโดย 12 ประเทศเมื่อปี 2016 ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นของสหรัฐในการลดความเกี่ยวข้องในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยนโยบายด้านต่างประเทศของประธานาธิบดีทรัมป์ที่มุ่งเน้นไปยังวิสัยทัศน์ “America First” การไม่ปรากฏตัวของทรัมป์ในการประชุมสุดยอดครั้งสำคัญของเอเชียก็เป็นการย้ำอีกครั้งว่าสหรัฐนั้นไม่มีข้อผูกพันกับภูมิภาคนี้ โดยในอีกสี่ปีของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทรัมป์มีแนวโน้มว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในท่าทีปกป้องภาคการค้าของสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐภายหลังสิ้นสุดการระบาด COVID-19 คาดว่าจะไม่ราบรื่นและเปราะบาง
ในทางกลับกัน โจ ไบเดน ได้ให้การสนับสนุนข้อตกลงการค้าเสรีและเป็นแกนนำสนับสนุนข้อตกลง TPP อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่าไบเดนจะผลักดันอย่างจริงจังในการกลับเข้าร่วม TPP อีกครั้งหรือไม่ เนื่องจากสมาชิกพรรคเดโมแครตบางคนมองว่า TPP เอื้อบริษัทข้ามชาติมากเกินไป ในความเป็นจริงทั้งทรัมป์และไบเดนต่างต้องการนำการจ้างงานในภาคการผลิตกลับสู่อเมริกามากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม หากไบเดนเป็นผู้นำสหรัฐ เขาจะพยายามหาทางแก้ไขความสัมพันธ์ที่ถูกฉีกขาดและทำงานร่วมกับพันธมิตรดั้งเดิมของสหรัฐ นอกจากนี้ สหรัฐยังมีแนวโน้มที่จะกลับมาฟื้นฟูและสานต่อบทบาทในองค์กรพหุภาคีต่างๆ เช่น WTO และ NATO สิ่งนี้จะได้รับการตอบรับจากนานาประเทศและตลาดต่างๆ อันเป็นสัญญาณของการรื้อฟื้นแนวทางที่ตั้งอยู่บนกฎเกณฑ์เพื่อความเป็นระเบียบของภาคการค้าโลก
อย่างไรก็ตาม ประเทศในเอเชียที่มีประชากรวัยทำงานจำนวนมาก มีลักษณะประชากรที่น่าดึงดูด มีโครงสร้างค่าจ้างที่ต่ำโดยเปรียบเทียบ (เช่น กัมพูชา เมียนมา ลาว เวียดนาม บังกลาเทศ ปากีสถาน ศรีลังกา) และมีทักษะสูง รวมทั้งมีกำลังความสามารถด้านโครงสร้างพื้นฐานอยู่ในระดับสูง มีแนวโน้มที่จะขึ้นมาเป็นผู้ชนะเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ หากซัพพลายเชนถูกกระจายออกจากประเทศจีน สถานการณ์นี้จะมีผลในเชิงบวกต่อเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ดุลการค้าระหว่างประเทศ และการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเหล่านี้
ในทำนองเดียวกัน การต้องเลือกระหว่างระดับทักษะและต้นทุนแรงงานอาจจำกัดความสามารถของเศรษฐกิจในประเทศที่มีค่าจ้างสูงขึ้นในการใช้ประโยชน์ให้ได้อย่างเต็มที่จากการที่สหรัฐหันออกจากการพึ่งพาจีน การมีจุดประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นทำให้การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ระดับไฮเอนด์อาจย้ายไปยังเกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ในขณะที่การผลิตสินค้าโลว์เอนด์จะหันออกไปยังตลาดอื่นๆ ในอาเซียน ถ้าไบเดนชนะเลือกตั้งจะเป็นผลดีสำหรับญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน เนื่องจากมีแนวทางที่นุ่มนวลกว่าในการเจรจากับจีน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเผชิญหน้ากันทางการทหารและลดความเสี่ยงเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ภายในภูมิภาค
การเลือกตั้งสหรัฐจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของตนและค่าเงินดอลลาร์อย่างไร? และนั่นจะมีความหมายอย่างไรต่อทั้งค่าเงินและตราสารหนี้ของเอเชีย?
Goh Rong Ren ผู้จัดการพอร์ตการลงทุนตราสารหนี้ Eastspring Singapore: เศรษฐกิจสหรัฐจะเป็นประเด็นหลักของใครก็ตามที่ชนะศึกเลือกตั้งหนนี้ มีคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัวลงอย่างรุนแรงในปีนี้ ร่วงลงมากที่สุดนับตั้งแต่เกิด Great Depression หรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ อัตราการว่างงานได้ขึ้นมาแตะระดับ 8.4% ในเดือนสิงหาคม ซึ่งต่ำกว่าจุดสูงสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ 14.7% แต่ยังคงสูงกว่าในช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 เป็นอย่างมาก และถ้าหากโลกยังปราศจากวัคซีน เซ็กเตอร์ที่ถูกกระทบอย่างหนัก เช่น ธุรกิจการบิน การท่องเที่ยว ตลอดจนอุตสาหกรรมบริการในภาพใหญ่นั้น ไม่น่าจะสามารถฟื้นตัวขึ้นได้อย่างชัดเจน
ดังนั้น นโยบายการคลังของสหรัฐจึงมีแนวโน้มที่จะยังคงผ่อนคลายต่อไป โดยประธานาธิบดีที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามายังต้องดำเนินมาตรการสนับสนุนทางเศรษฐกิจอย่างเข้มข้น ซึ่งอาจรวมถึงการใช้เงินงบประมาณทางการคลังอย่างต่อเนื่องให้แก่แรงงานที่ถูกพักงานและอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ นโยบายการคลังที่นำมาใช้โดยฝ่ายบริหารชุดใหม่ซึ่งมีผลต่อระดับการขาดดุลการคลังนั้น มีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในระยะยาว นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างมากจากธนาคารกลางสหรัฐจนถึงปัจจุบัน เมื่อรวมกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ทำให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ (US Dollar Index) ลดลง 2.3% จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มที่จะยังคงถูกกดดันต่อไปจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและการขาดดุลการคลังที่มากขึ้น ดูรูปที่ 2
สำหรับความแตกต่างที่เกิดขึ้น ในกรณีไบเดนขึ้นเป็นผู้นำสหรัฐ เราเชื่อว่าเขาน่าจะกำหนดนโยบายการคลังของประเทศบนเส้นทางที่ยั่งยืนมากกว่า ซึ่งหากเทียบกับทรัมป์แล้ว ไบเดนยังมีโอกาสที่จะยอมรับแนวทางพหุภาคีมากขึ้นสำหรับประเด็นด้านการค้า ซึ่งจะสามารถช่วยรักษาสถานะการเป็นสกุลเงินสำรองของดอลลาร์สหรัฐไว้ได้ตามความคาดหมาย
ท่าทีของฝ่ายบริหารชุดใหม่ที่มีต่อจีนจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนที่มีต่อตลาดเอเชียอย่างต่อเนื่อง วิธีการจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายที่ค่อนข้างขัดแย้งกันโดยฝ่ายบริหารภายใต้ประธานาธิบดีคนใหม่จะเป็นสิ่งกำหนดส่วนผสมในนโยบาย ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวประกอบด้วยความต้องการถ่วงดุลความมุ่งมั่นด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของจีนในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ฉุดภาคการค้าโลกหรือการเติบโตภายในประเทศ หากมองเป็นกลางและการที่ฝ่ายบริหารมีภารกิจสำคัญที่สุดคือการทำให้เศรษฐกิจสหรัฐกลับมาเป็นปกติ เราไม่คาดว่านโยบายใหม่จะเข้ามาทำลายสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นเราจึงมองสกุลเงินเอเชียจะได้รับประโยชน์ภายใต้กระแสการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ
ในขณะเดียวกัน นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายและมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณที่เข้มข้นทั่วโลกจะช่วยรักษาสภาพคล่องให้อยู่ระดับสูงต่อไป โดยส่วนใหญ่ของสภาพคล่องเหล่านี้มีแนวโน้มจะไหลเข้าสู่ตลาดต่างๆ ในเอเชียเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น สถานการณ์นี้จะช่วยสนับสนุนสกุลเงินเอเชียและตราสารหนี้ของแต่ละประเทศ ธนาคารกลางในเอเชียดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างมากเพื่อรับมือกับสถานการณ์การระบาดครั้งใหญ่และมุ่งมั่นที่จะรักษาอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำต่อไปในอนาคตเพื่อสนับสนุนการเติบโต สิ่งนี้เองที่จะเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดทิศทางราคาตราสารหนี้ของเอเชียนับจากนี้ไป